วันอังคารที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2556

พันธุ์ไม้รักษาโรค

พันธุ์ไม้ที่ใช้เป็นยารักษาโรค

คนไทยรู้จักใช้พืชพันธุ์ไม้เป็นยา มาตั้งแต่สมัยโบราณ และถ่ายทอดความรู้เหล่านี้ ให้ลูกหลานสืบทอดกันมา วิถีชีวิตของคนไทยในเรื่องดังกล่าว จึงปรากฏในวรรณคดีด้วย เช่น ใน นิราศสุพรรณ



น้ำใจใคร่ (Olax scandens Roxb.) 

น้ำใจใคร่เป็นพืชสมุนไพร ซึ่งบางพื้นที่เรียกว่า กระทกรก พบขึ้นทั่วไปทุกภาค ลักษณะเป็นไม้รอเลื้อย ที่แตกกิ่งก้านสาขามาก มีขนละเอียด สีขาวอยู่ทั่วลำต้น และมักมีหนามตามกิ่งแก่ๆ ใบเดี่ยวสีเขียวเป็นมันรูปขอบขนาดแกมใบหอก ขนาดกว้าง ๒ - ๓ ซม. ยาว ๕ - ๗ ซม. ดอก เป็นช่อสั้นๆ ออกดอกสีขาวตามซอกใบพร้อมๆ กัน เกือบทั้งกิ่ง มีกลีบดอก ๕ - ๖ กลีบ กลิ่นหอม ผลรูปไข่ปลายแหลมเล็กน้อย ขนาดเส้นผ่าน ศูนย์กลาง ๑ - ๑.๕ ซม. ผลสุกสีเหลือง หรือส้ม รับประทานได้ ชาวบ้านรับประทานใบและยอด อ่อนๆ เป็นผัก 

น้ำใจใคร่มีสรรพคุณทางสมุนไพร ลำต้นใช้ทำยาต้ม แก้โรคไตพิการ และโรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ เปลือกเป็นยาแก้ไข้



ราชดัด (Brucea javanica Merr.) 

ราชดัดเป็นพืชวงศ์เดียวกับสีฟันคนทา และประทัดใหญ่ ซึ่งเป็นพืชสมุนไพรที่สำคัญ พบในป่าโปร่งทุกภาค มีชื่ออื่นที่ใช้เรียกแตกต่างกันออกไป เช่น ทางภาคใต้เรียกว่า กะดัด หรือ ฉะดัด ภาคกลางเรียกว่า ดีคน ตราดเรียกว่า พญาดาบหัก เชียงใหม่เรียกว่า กาจับหลัก หรือ มะดีควาย

ลักษณะของราชดัดเป็นไม้พุ่มใหญ่ สูง ๒ - ๓ เมตร ทรงพุ่มโปร่ง ใบประกอบแบบขนนก มีก้านใบยาว เรียงสลับอยู่ห่างๆ ใบย่อยแต่ละใบเป็นรูปไข่แกมรูปใบหอก หรือรูปรี ปลายแหลม ขอบจัก มีขนนุ่มๆ ทั้ง ๒ ด้าน ดอกเล็กๆ สีน้ำตาลแกมแดง ออกดอกเป็นช่อ ยาวๆ ตรงซอกใบ ผลรูปใข่ปลายแหลม ขนาด เล็ก เมื่อแห้งจะมีสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ ผิวย่น คล้ายเมล็ดมะละกอแห้ง ปัจจุบันมีปลูกตามสวน สมุนไพรเกือบทุกแห่ง เนื่องจากผลราชดัดเป็น ยารักษาโรคบิด แก้ท้องเสีย และแก้ไข้ได้ดี นอกจากนี้ ใบยังใช้ถอนพิษสัตว์กัดต่อยได้ด้วย


สลัดได (Euphorbia antiquorum Linn.) 

สลัดไดเป็นพันธุ์ไม้วงศ์เดียวกับมะยม พบในที่แห้งแล้งทั่วไป ลำต้นอวบน้ำเป็นแท่งสีเขียว มีหนาม มักจะไม่ค่อยมีใบ จึงทำให้มีลักษณะคล้ายกระบองเพชร และมักจะเข้าใจกันว่า เป็นกระบองเพชรชนิดหนึ่งเสมอ มีข้อแตกต่างที่ใช้สังเกตได้ คือ สลัดไดมียางสีขาวขุ่น เมื่อทำให้เกิดบาดแผล แม้เพียงเล็กน้อย น้ำยาสียาวจะไหลออกมาทันที แต่กระบองเพชรไม่มียาง นอกจากนั้น ดอกของสลัดไดจะมีขนาดเล็ก สีเหลืองหรือ เหลืองอมเขียว ขนาดเล้นผ่านศูนย์กลางดอก ไม่ถึง ๑ ซม. คล้ายดอกไม้ชั้นเดียว แต่ส่วนที่ เห็นเป็นกลีบๆ นั้นคือใบประดับ ขณะที่ดอก กระบองเพชรมีขนาดใหญ่กว่ามาก และมีกลีบ ดอกจำนวนมากเรียงซ้อนกัน

ลำต้นสลัดไดเป็นแท่งสามเหลี่ยม หรือสี่เหลี่ยม มีสันเป็นแนวตรง มีใบเล็กๆ ซึ่งมักจะหลุดร่วงง่าย นำมาปลูกเป็นรั้ว หรือปลูกด้านนอก ของกำแพงรั้วบ้าน เพื่อกันคนและสัตว์ เนื่องจาก ต้นแข็งและมีหนามแหลมคม

ยางสลัดไดมีพิษ หากสัมผัสกับผิวหนัง อาจจะทำให้เกิดการระคายเคือง เป็นผื่นคัน หรือกัดผิว ตำรายาไทยใช้ยางกัดหูดตามผิวหนัง ซึ่งจากผลการวิจัยในปัจจุบันพบว่า มีสารร่วมก่อ มะเร็งในน้ำยาง จึงไม่ควรนำมาใช้ ต้นที่แก่จัด ลำต้นจะมีแก่นแข็งข้างใน เมื่ออายุประมาณ ๑๐ ปีขึ้นไป ต้นจะตายลง แต่แก่นแข็งๆ ยังอยู่ มี ลักษณะเหมือนไม้แห้งๆ สีน้ำตาล มีกลิ่นหอม และรสขม เรียกว่า กะลำพัก ใช้ทำยาแก้ไข้ได้ดี


ไข่เน่า (Vitex glabrata R. Br.)

ไข่เน่าเป็นไม้ต้นในวงศ์เดียวกับสักและผกากรอง มีชื่ออื่นที่เรียกกันคือ คมขวาน และผรั่งโคก พบในป่าเบญจพรรณทั่วไป ขนาดต้น สูง ๑๕ - ๒๐ เมตร มีใบประกอบแบบฝ่ามือ ขนิด ๕ ใบย่อย สีเขียวเข้ม ดอกสีม่วงอ่อน เป็นช่อตรงซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ผลรูปไข่ ยาว ๒ - ๓ ซม. เมื่อสุกมีสีม่วงดำ เนื้อนุ่ม สันนิษฐาน ว่า ชื่อไข่เน่าคงจะมาจากลักษณะและสีของผล นั่นเอง ผลสุกรับประทานได้ แต่รสหวานเอียน ไม่อร่อย ถ้าไส่เกลือป่นหรือจิ้มเกลือจะมีรสชาติ ดีขึ้น ไข่เน่าขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด

เนื้อไม้ของไข่เน่าแข็ง ใช้ทำเครื่องเรือน และของใช้ต่างๆ เปลือกต้น ซึ่งมีรสฝาด ใช้แก้ท้องเสีย แก้บิด แก้ไข ขับพยาธิในเด็ก รากใช้แก้ท้องเสีย และเป็นยาเจริญอาหาร


ชิงช้าชาลี (Tinospora cordifolia Miers) 

ทางภาคเหนือเรียกพันธุ์ไม้เลื้อยชนิดนี้ว่า จุ่งจะลิง หรือจุ่งจะลิงตัวแม่ อยู่ในวงศ์และสกุลเดียวกับบอระเพ็ด ซึ่งคนไทยรู้จักเป็นอย่างดี ในเรื่องความขม และการใช้เป็นยาแก้ไข้ ชิงช้าชาลี เป็นไม้เลื้อย ลำเถายาว แต่มีปุ่มปมน้อยกว่า บอระเพ็ด พบมากในภาคกลาง ขึ้นเลื้อยพันตาม ต้นไม้ใหญ่และไม้พุ่มในป่าละเมาะ แม้แต่ที่รกร้าง รอบๆ กรุงเทพฯก็สามารถพบได้ ใบเดี่ยวเป็นรูป หัวใจ ขนาดกว้างยาวประมาณ ๕ - ๑๐ ซม. ดอก สีเหลืองเล็กๆ ออกเป็นช่อยาวตามข้อและที่ซอกใบ ผลกลมขนาดเล้กอยู่เป็นกลุ่มๆ เมื่อสุกจะมีสีเหลือง

ชิงช้าชาลีมีรสขมเช่นเดียวกับบอระเพ็ด ตำรายาไทยใช้ลำต้นแก้ไข้ บำรุงธาตุ และเป็นยาเจริญอาหาร ใบสดใช้แก้ปวด และถอนพิษ แต่การวิจัยปัจจุบันพบว่า ไม่มีฤทธิ์แก้ไข้


สมอ (Terminalia spp.) 

พันธุ์ไม้ที่เรียกว่า สมอ ส่วนมากหมายถึง พันธุ์ไม้ในวงศ์และสกุลเดียวกับหูกวาง ๓ ชนิด คือ สมอไทย สมอพิเภก และสมอดีงู ต่างก็เป็นสมุนไพร ที่ใช้ผลดิบเป็นยาระบาย ชาวบ้านโดยเฉพาะผู้สูงอายุมักรับประทานเป็นประจำ เพราะเชื่อว่าไม่มีพิษภัย และจะช่วยให้ไม่เจ็บป่วยด้วย เป็นไม้ต้น ซึ่งพบอยู่ตามป่า ในภาคต่างๆของประเทศไทย โดยเฉพาะภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ในภาคใต้จะพบสมอดีงูมากกว่าสมอชนิดอื่น สมอเป็นไม้ผลัดใบ ซึ่งจะออกดอกหลังจากที่ใบอ่อนเริ่มผลิใหม่ ดอกเล็กสีขาว หรือเหลืองอ่อน ออกเป็นช่อยาวๆ ตรงซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ผลเป็นแบบที่มีเนื้อ รูปร่างลักษณะของผลสมอแต่ละชนิดแตกต่างกันอย่างชัดเจน

ผลสมอไทยมีรูปป้อมๆ ผิวเกลี้ยงไม่มีขน ขนาดกว้าง ๒ - ๓ ซม. ยาว ๓ - ๔ ซม. เมื่อผลแก่จะมีสีเขียวอมเหลือง ผลแห้งสีดำ ผลอ่อน ใช้เป็นยาระบาย ขับเสมหะ และแก้ไข้ ผลที่แก่และดิบใช้รับประทาน เป็นผักจิ้มน้ำพริก 

ผลของสมอพิเภกค่อนข้างกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒ ซม. ผิวมีขนนุ่มสีน้ำตาล หรือน้ำตาลแกมเหลืองปกคลุมอยู่ทั้งผล มีสันตามยาว ๕ สัน มักออกรวมกันเป็นพวงๆ ที่ปลายกิ่ง ผลอ่อนมีรสเปรี้ยว ใช้เป็นยาระบาย ผลสุกจะมีรสฝาดใช้เป็นยาแก้ท้องเสีย และเป็นยาเจริญอาหาร ส่วนผลแห้งใช้ต้มกับน้ำเป็นยาแก้ไอ 

สมอดีงู หรือสมอหมึก มีผลค่อนข้างยาว หัวและท้ายแหลม คล้ายผลสมอของจีน รสฝาดและขม ผลสุกสีม่วงแกมเขียว ตำรายาไทยใช้ผลอ่อนเป็นยาระบาย แก้โลหิตเป็นพิษ และแก้ไข้ 

สมอทั้ง ๓ ชนิดนี้ เปลือกต้น และผลดิบ มีสารฝาด จึงใช้ในการย้อมแหอวนให้มีสีเข้ม และใช้ได้ทนทาน เพราะสารฝาดช่วยลดการเสื่อมสภาพของด้ายหรือเชือก ที่ใช้ทำแหและอวน โดยเฉพาะสมอพิเภก เปลือกและผลใช้ย้อมผ้าให้เป็นสีเขียวขี้ม้า







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น